การดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HIV ควรเริ่มต้นอย่างไร ?

การดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HIV

 

การดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HIV หากรู้ว่าตัวเอง ติดเชื้อ HIV เราควรคำนึง ถึง การดูแลตัวเอง เป็นหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของอาหาร การใช้ห้องน้ำหรือ การใช้ชีวิตร่วม กับผู้อื่นโดยที่ไม่ต้องกังวล ว่าเราจะนำเชื้อ ไปแพร่ หรือเปล่า ท่านจะต้อง รู้จักป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ได้ ง่าย

สามารถบอก คนรอบข้าง ได้ว่า ตนเอง นั้นเป็น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถึงแม้ว่า การเปิดเผยตนเองนั้น อาจจะทำให้ ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี หรืออึดอัดใจได้ แต่การบอกคน ที่เรารัก หรือครอบครัว เพื่อน บุคคลใกล้ชิด

แม้กระทั่ง คู่นอนทราบว่า ตนเองเป็น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะทั้งตนเอง และคนรอบข้างนั้น จะได้ เตรียมรับมือและปฏิบัติตัว ตามข้อควรระวัง หรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการดูแล ได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัย

การดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HIV ควรดูแลยังไงบ้าง?

1.การรับประทานยา ตามที่แพทย์ สั่งอย่างเคร่งครัด ตรงเวลา การดูแลตัวเอง เมื่อติดเชื้อ HIV หนึ่งในสิ่งที่ควรทำ คือ ควรรับประทาน ยาอย่างเคร่งครัด ตรงเวลา

2.การรับประทาน อาหารที่มีประโยชน์ แก่ร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี และแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เพราะ การรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ อาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายที่แข็งแรง

3.การ ออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม นอกจากการออกกำลังกาย จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพ ให้แข็งแรงแล้วนั้น ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิต และบุคลิกภาพที่ดียิ่งขึ้น อีกด้วย

4.การ ดูแลสุขภาพจิต เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้ป่วยจะรู้สึก เครียดจากโรค ที่ตนเองเป็นอยู่ หรือซึมเศร้า และวิตกกังวล เป็นอย่างมาก หลังจากทราบว่า ตนเองติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งผู้ป่วย สามารถ สอบถามข้อมูล ด้านนี้เพิ่มเติมได้ จากสถานพยาบาล ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั่วไปได้

5.การสูบบุหรี่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจจะมีแนวโน้ม ที่จะได้รับผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ มากกว่าคนทั่วไป และบุหรี่ ยังเพิ่มความเสี่ยง และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาด้วย

6.เลิกใช้ยาเสพติด การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน หรือยาบ้า อาจทำให้อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยแย่ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสพยาด้วยการใช้เข็มฉีดยา ร่วมกับผู้อื่น อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้เชื้อเอชไอวี ในร่างกายเจริญเติบโต ได้รวดเร็ว

7.ลดความเสี่ยง การแพร่เชื้อเอชไอวี สู่ผู้อื่น เชื้อเอชไอวีสามารถ แพร่กระจายผ่านทางของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น และน้ำนม ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรใช้ถุงยางอนามัย ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยง ในการแพร่เชื้อ แก่คนที่เรารัก

8.การป้องกัน ตนเองจากการติดเชื้ออื่น ๆ หมั่นรักษาสุขภาพปาก และฟัน หลังรับประทานอาหาร ทุกครั้ง ด้วยการแปรงฟัน ทุกครั้ง หลังรับประทานอาหาร หรือ หมั่นตรวจสุขภาพช่องปาก กับทันตแพทย์ปีละครั้ง ผู้ป่วย ไม่ควรใช้เข็มฉีดยา ร่วมกับผู้อื่น เพราะ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีภูมิต้านทานโรคต่ำ กว่าคนปกติ จึงอาจทำให้ ติดโรคได้ง่าย

 

-ขอขอบ คุณข้อมูลจาก POBPAD-

 

อย่างไรก็ตาม เราขอเป็นกำลังใจ ให้กับผู้ป่วย ติดเชื้อเอชไอวี ทุกท่าน และขอรณรงค์ ให้ทุกท่าน สวมใส่ถุงยางอนามัย ทุกครั้ง ที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพราะมันคงไม่สนุกแน่ ๆ หาก คุณได้รับความเสี่ยงมา

 

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทํางาน ตรวจอะไรบ้าง เจอ HIV หรือเอดส์ ไหม

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตรวจอะไรบ้าง? เจอ HIV ไหม

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทํางาน ตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตรวจอะไรบ้าง ของแต่ละบริษัทหรือ โรงงานต่าง ๆ นั้น จะแตกต่างกันออกไป แล้วเราจะเจอการตรวจอะไรบ้าง มีการ ตรวจHIV ไหม จะตรวจเจอเอดส์ หรือ ตรวจอะไรมากกว่าปกติ หรือเปล่า การตรวจสุขภาพ อาจขึ้นอยู่กับลักษณะงาน และหน้าที่ที่รับผิดชอบ ของแต่ละบริษัท หรือ หน่วยงาน เพราะแต่ละตำแหน่งงาน มีความเสี่ยง และความจำเป็น ในการตรวจสุขภาพ ไม่เหมือนกัน

ดังนั้น แต่ละบริษัท หรือโรงงาน จะมีการตรวจร่างกาย ที่ไม่เหมือนกัน ตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน ของบางบริษัท หรือบางโรงงาน ก็ให้ตรวจ ร่างกายทั่วไป โดยแพทย์ X-ray ปอด เจาะเลือด แต่อาจจะมีบางบริษัท หรือบางโรงงาน ที่ไม่ต้องเจาะเลือด หรือบางบริษัท อาจให้ไปตรวจ กับโรงพยาบาลที่เจาะจง หรือบางที่ ก็อาจจะให้ไปตรวจด้วยตนเอง ตามรายการที่ระบุไว้

โดยทีมแพทย์ จะสอบถามประวัติ เพื่อหาความ เสี่ยงของโรค โดยเฉพาะกลุ่มคน ที่ครอบครัว ที่มีประวัติทางด้านการป่วย ด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

การตรวจสุขภาพ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง การเกิดโรคต่าง ๆ สามารถรับการ ตรวจได้ฟรี ปีละ 1 ครั้ง เช่น การตรวจมะเร็ง ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต และตรวจไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น

ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทํางาน ตรวจอะไรบ้าง โดยทั่วไปแล้ว การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน ที่บริษัท หรือ โรงงานต่าง ๆ มีพื้นฐาน ในการตรวจ ดังต่อไปนี้
• การ ตรวจสุขภาพพื้นฐาน เช่น การถามประวัติ และตรวจร่างกาย ทั่วไปโดยทีมแพทย์ ตรวจชีพจร ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน เป็นต้น
• การตรวจ สายตา หรือตรวจหู เพื่อวัดความสามารถ ในการมองเห็น และการได้ยินเสียง สำหรับงาน ที่จำเป็นต้องใช้สายตา หรือการได้ยินเสียง
• การตรวจ X-ray ปอด ตรวจ โรคระบบทางเดินหายใจ
• การ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรืออุจจาระ
• การตรวจความ สมบูรณ์ของเม็ดเลือด และเกล็ดเลือด
• การตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
• การตรวจ โรคติดต่อต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค และโรคติดเชื้อ เอชไอวี (ตรวจหาเชื้อ hiv)
• การตรวจสุขภาพ ของฟัน
• การตรวจการตั้งครรภ์
• การตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจหาสารเสพติด ตรวจหาเชื้อ HIV ตรวจโรคเอดส์ หรือ ที่เฉพาะอาชีพ หรือตามลักษณะงาน ตามข้อกำหนดของบริษัท หรือองค์กรนั้น ๆ

 

-ขอขอบคุณ ที่มาของข้อมูลโดย กองบรรณาธิการ HONESTDOCS-

 

แต่ ทั้งนี้ทังนั้น ตาม กฎหมายแรงงาน ไม่ได้ มีการบังคับ ให้การรับเข้าทำงาน ต้องตรวจสุขภาพ เป็นนโยบาย ของสถานที่ทำงาน ที่กำหนดขึ้นมาเอง ซึ่ง ไม่ได้ผิดกฎหมายใด หากจะผิดกฎหมาย ก็ต่อเมื่อ มีการบังคับให้ตรวจ โรคเอชไอวี และบังคับ ให้เผยแพร่ ข้อมูลผลการตรวจ ซึ่งเป็นการ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยที่ผู้อื่น ไม่สามารถ บังคับให้เรา เปิดเผยผลการตรวจได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท ก็อาจจะชู เป็นข้อกำหนด ในการรับเข้าทำงาน ทำให้ทางผู้สมัคร อาจจะต้อง ตัดสินใจเองว่า จะสมัครงานที่นี่ หรือไม่ หรือควรสอบถามข้อมูลการสมัครงานกับแผนกบุคคลก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการพบเจอปัญหาเหล่านี้

ข้อควรทราบ เมื่อใช้ ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง

 

“ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง” นับเป็นเรื่องที่ดี ในการป้องกัน และลด การแพร่กระจาย เชื้อเอชไอวี จากการที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเรื่อง ชุดตรวจ ที่เกี่ยวข้อง กับ การตรวจคัดกรอง การติดเชื้อเอชไอวี ด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 ซึ่งนับเป็นเรื่อง ที่ประชาชน ในสังคมให้ความสนใจ เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถาม เกี่ยวกับการตรวจ การติดเชื้อเอชไอวี ด้วยวิธีดังกล่าว อย่างมากมาย ถึงความแม่นยำ ความปลอดภัย และข้อควรระวัง หรือควรรู้อะไรบ้าง ที่เราจำเป็นต้องรู้ หรือทำความเข้าใจ หากมีชุดตรวจคัดกรอง การติดเชื้อเอชไอวี ด้วยตนเอง หรือ HIV Self Testing (HIVST) ที่ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อ.ย.) วางขายในท้องตลาด เพื่อเพิ่ม ทางเลือก ในการคัดกรองการติดเชื้อ แทนที่จะต้องไปตรวจที่ รพ เท่านั้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การอนุญาต ให้ประชาชนเข้าถึง การตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยตนเอง

ในครั้งนี้ เป็นมาตรการหนึ่ง ที่ช่วยเรื่อง การยุติปัญหาเอดส์โดย อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจ ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้อง กับการตรวจคัดกรอง การติดเชื้อเอชไอวี ด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศ ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 และมีผลบังคับทันที

 

 

การที่ปัจจุบัน มีชุดตรวจที่สามารถตรวจ ได้ด้วยตัวเองนั้น ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถตรวจหาเชื้อ ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก การวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความกังวลใจ ไม่ปล่อยให้ตัวเอง มีอาการ หรือพบการติดเชื้อ ในระยะที่ทำการ รักษาลำบาก ยิ่งตรวจพบได้รวดเร็ว ยิ่งรักษา และดูแลร่างกายได้ง่าย อยู่ร่วมกับ คนในสังคม ได้ตามปกติได้ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ต่อการรับเชื้อเอชไอวี ยังสามารถหาซื้อ ชุดตรวจ HIV  ได้ตามร้านขายยาทั่วไป สร้างพฤติกรรมการตรวจ ให้เข้าถึงง่าย และไม่อาย ที่จะตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ ถ้าผู้รับการตรวจ ติดเชื้อเอชไอวี จะทำให้ ได้รับการรักษา ที่ถูกต้อง รวดเร็ว ได้รับทราบข้อมูล ในการดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรง รวมถึงเทคนิค ในการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน โรคเพื่อลดความเสี่ยง ที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน ถูกทำลาย จากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และนำไปสู่ผู้ป่วย โรคเอดส์เต็มขั้น

 

ข้อควรทราบ เมื่อใช้ ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง

การตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยตัวเอ นอกจากจะมีข้อดี ในหลาย ๆ ด้าน แต่ผู้ที่ต้องการตรวจ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ วิธีการใช้ วิธีอ่านค่า อย่างละเอียด เพื่อให้ได้ผล ที่ใกล้เคียง กับความจริง ให้ได้มากที่สุด ทำความเข้าใจว่า ระยะ window period คืออะไรและ มีความสำคัญอย่างไร ในกรณี ที่ใช้เครื่องตรวจ ไม่ถูกต้อง เช่น อ่านค่าจากชุดตรวจผิด ใช้ตรวจผิดเวลา หรือแม้กระทั่ง การตรวจเพียงครั้งเดียว อาจไม่สามารถยืนยันผล การตรวจได้แน่ชัด 100% นอกจากนี้การตรวจเอง โดยไม่ได้รับ คำแนะนำจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ ยังอาจทำให้ เกิดผลกระทบทางจิตใจ มากขึ้นไปด้วย หากใช้ชุดตรวจดังกล่าว แล้วพบว่ามีปฏิกิริยา (reactive) ต้องได้รับ การตรวจยืนยัน การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี จากหน่วยบริการ ที่สามารถตรวจยืนยัน วินิจฉัยได้อีกครั้ง หนึ่งเสมอ ไม่ควรตรวจเอง เพียงครั้งเดียวแล้วเข้าใจว่าตัวเองติด/ไม่ติดเชื้อไปเอง เพราะชุดตรวจเป็นการตรวจสอบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น

อย. ยืนยัน ชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง ปลอดภัย แม่นยำ 99.5% สามารถทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเมื่อวันที่ 21 เมษายน ถึงการปลดล็อกให้ใช้ชุดตรวจคัดกรองเชื้อ hiv ด้วยตนเอง ว่า ชุดตรวจดังกล่าว มีการผลิตใช้งานตามโรงพยาบาลและคลีนิคอยู่แล้ว แต่เดิมทาง อย. ไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ตรวจกับบุคคลทั่วไป แต่จากการประสานกับกรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พบว่า การที่บุคคลทั่วไปนำไปตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองมีประโยชน์ และองค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่า มีประโยชน์จริง จึงประกาศให้มีการดำเนินการได้เอง คาดว่าหลังจากนี้ จะมีผู้ประกอบการไปขอยื่นขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายตามร้านขายยามากขึ้น

“การพิจารณาขึ้นทะเบียนชุดตรวจคัดกรองเอชไอวี อย.จะควบคุมเข้ม ไม่ว่าจะใช้ในสถานพยาบาลหรือใช้ตรวจด้วยตนเอง และชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง อย.จะพิจารณาตรวจเข้มงวดกว่าที่ขายให้โรงพยาบาล โดยมีการกำหนดคุณสมบัติและมาตรฐาน เช่น ความแม่นยำจะต้องสูงถึงร้อยละ 99.5 และมีเอกสารคำแนะนำให้ผู้ป่วย เช่น ก่อนตรวจต้องทำอย่างไร หลังตรวจทำอย่างไร หากมีปัญหาจะให้คำปรึกษาได้ที่ไหน เป็นต้น” นพ.สุรโชคกล่าว และว่า ส่วนชุดตรวจเชื้อเอชไอวีที่ใช้ในสถานพยาบาล เนื่องจากมีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจ อีกทั้งเมื่อสงสัยว่าเลือดบวก จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติ (ห้องแล็บ) ซ้ำ และดูอาการของคนไข้ประกอบ

ชุดตรวจเอชไอวี ทิ้งขยะทั่วไปได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดการชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองหลังใช้งานแล้ว เพราะมีการเจาะเลือดของผู้ทดสอบ และกังวลเรื่องขยะหลังการตรวจ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ชุดตรวจด้วยตนเองมี 2 แบบ คือ แบบเจาะเลือดตรวจ และแบบตรวจจากน้ำลาย ซึ่งทั้งสองแบบต้องมีความแม่นยำสูงเหมือนกัน

“ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อจากการสัมผัสเลือด เนื่องจากเข็มที่ใช้เจาะเป็นระบบที่มีความปลอดภัย พอเจาะเสร็จตัวเข็มจะถูกเก็บหายไป ไม่ต้องกังวลว่าจะไปตำคนอื่น และเลือดก็ใช้น้อยมาก เมื่อหยดเลือดลงไปในตัวชุดตรวจ เลือดก็จะซึม แห้ง และไม่ไปที่อื่น หากมีเชื้อจริง ทิ้งไว้ไม่กี่ชั่วโมงเชื้อก็ตาย การทิ้งชุดตรวจจึงสามารถทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้” นพ.สุรโชคกล่าว และว่า ส่วนข้อกังวลที่ว่า เมื่อตรวจแล้วผลเป็นบวก และจะทำอะไรไม่ถูกนั้น มีข้อกำหนดว่า ชุดตรวจจะต้องระบุสายด่วนให้คำปรึกษาผู้ที่ติดเชื้อด้วย และปัจจุบันประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ระดับหนึ่งแล้ว

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องที่น่ากังวลอีกเรื่องของการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง คือ ระยะเวลาที่จะตรวจหาเชื้อเอชไอวีพบ ซึ่งคนที่ไปมีความเสี่ยงมา อาจจะร้อนใจอยากรู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ก็ไปซื้อชุดตรวจมาตรวจเลย แต่กลับลืมระยะเวลาที่จะตรวจหาเชื้อพบ ดังนั้น เมื่อตรวจแล้วจึงทำให้ผลเป็นลบ ทั้งที่จริงแล้วอาจจะติดเชื้อมาก็ได้ ทำให้การแปลผลผิดพลาด

“ระยะเวลาที่จะตรวจหาเชื้อพบ ขึ้นกับการพัฒนาน้ำยาชุดตรวจว่ามีความไวมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ดังนั้น หากคนที่เพิ่งมีความเสี่ยงมาแล้วไปตรวจใน 2-3 วัน อาจเกิดปัญหาการอ่านผลผิดได้” นายอภิวัฒน์กล่าวและว่า แม้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง จะระบุชัดเจนถึงรายละเอียด ข้อแนะนำ วิธีใช้ต่างๆ แต่เห็นว่า เภสัชกรยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยอธิบายให้ผู้ซื้อเข้าใจ เช่น อาจสอบถามถึงความเสี่ยงในการรับเชื้อ ซึ่งหากเพิ่งไปมีความเสี่ยงมา ก็อาจแนะนำว่าในระยะแรกอาจตรวจไม่พบเชื้อ เป็นต้น

ที่มา : มติชนออนไลน์

เด็กแอฟริกาใต้ปลอดจากเอชไอวี หลังได้รับยาต้านไวรัสแต่แรกเกิด

คณะแพทย์จากแอฟริกาใต้พบ เด็กวัย 9 ขวบคนหนึ่งที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแต่เนิ่น ๆ จนร่างกายปลอดจากเชื้อและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องรับยามาเป็นเวลา 8 ปีครึ่งแล้ว แพทย์ชี้ว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของเด็กรายนี้จะช่วยปูทางไปสู่การพัฒนายาหรือวัคซีนชนิดใหม่เพื่อหยุดยั้งเชื้อเอชไอวี

การค้นพบครั้งนี้ได้รับการเปิดเผยในที่ประชุมสมาคมเอดส์สากลครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นในกรุงปารีสของฝรั่งเศส โดยแพทย์ระบุว่า เด็กรายนี้ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาตั้งแต่แรกเกิดในปี 2007 และผลการตรวจพบว่าเด็กมีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดสูง แพทย์จึงให้การรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส ซึ่งแม้จะไม่ใช่แนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ในแอฟริกาใต้ขณะนั้น แต่เด็กรายนี้ได้รับยาเพราะอยู่ในโครงการทดลองทางคลินิก ที่จะให้ยาต้านไวรัสแก่ทารกติดเชื้อที่อายุตั้งแต่ 9 สัปดาห์เป็นต้นไป

จากการเฝ้าติดตามของแพทย์พบว่า หลังได้รับยาระดับเชื้อเอชไอวีของเด็กคนดังกล่าวเริ่มลดลงจนตรวจไม่พบเชื้อ แพทย์จึงยุติการรักษาหลังจากเด็กได้รับยามาเป็นเวลา 40 สัปดาห์ และพบว่าเด็กไม่กลับมาติดเชื้อไวรัสอีก ซึ่งต่างจากเด็กคนอื่นในโครงการทดลองครั้งนี้

การรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส อาศัยการออกฤทธิ์ของยา 3 ชนิดหรือมากกว่า รวมกัน เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้เจริญเติบโต
Image copyrightSCIENCE PHOTO LIBRARY
คำบรรยายภาพการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส อาศัยการออกฤทธิ์ของยา 3 ชนิดหรือมากกว่า รวมกัน เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้เจริญเติบโต

แพทย์ระบุว่า การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยโจมตีเชื้อไวรัสก่อนที่เชื้อจะพัฒนาไปเต็มขั้น ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเด็ก 2 คน โดยรายหนึ่งเป็นทารกในรัฐมิสซิสซิปปีของสหรัฐฯ ที่ได้รับยาต้านไวรัสหลังจากเกิดได้ 30 ชม. และปลอดจากเชื้อโดยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสนาน 27 เดือน ก่อนที่แพทย์จะตรวจพบเชื้อในเลือดของเด็กอีกครั้ง ส่วนอีกรายเป็นผู้ป่วยเด็กในฝรั่งเศสที่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ทำให้ปัจจุบันร่างกายปลอดจากเชื้อเอชไอวีโดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัสมานานกว่า 11 ปีแล้ว

ดร.เอวี วิโอลารี หัวหน้าทีมกุมารแพทย์ของหน่วยวิจัยเอชไอวีในนครโจฮันเนสเบิร์ก เจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า การที่เด็กปลอดจากเชื้อเอชไอวีไม่น่าจะเป็นผลมาจากการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมาจากปัจจัยอื่นด้วย “เรายังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่เด็กคนนี้ปลอดจากเชื้อเอชไอวี แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะปัจจัยด้านพันธุกรรมหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย” ซึ่งหากไขปริศนาข้อนี้ได้ก็จะช่วยปูทางไปสู่การพัฒนายาหรือวัคซีนเพื่อต่อสู้กับเชื้อเอชไอวีในอนาคต

โดยทั่วไปผู้ที่ติดเชื้อเอชไววีจะต้องกินยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งจะทำให้เกิดโรคเอดส์ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าแม้แพทย์จะตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในร่างกายเด็ก แต่กลับตรวจพบเชื้อในเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เชื้อเอชไอวีสามารถซ่อนอยู่ในเซลล์ดังกล่าว หรือเรียกว่า เชื้อแฝง (latent HIV) ได้เป็นเวลานาน ดังนั้นจึงยังมีความเป็นไปได้ที่เด็กอาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาในอนาคต

ถาม-ตอบ เราจะติดเอดส์ได้จากไหนบ้าง

เราจะติดเอดส์ได้จากไหนบ้าง คนส่วนใหญ่มักเรียกติดปากว่า ติดเอดส์ นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ติดเชื้อเอชไอวี เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเอดส์กับเอชไอวีต่างกันอย่างไร?

เอชไอวี คือ เชื้อไวรัส ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ โรคเอดส์ (AIDS) ส่วนใหญ่คนที่ติดเชื้อเอชไอวีมักไม่มีอาการป่วย

เอดส์ (AIDS) คือ ชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มโรคที่เป็นผลมาจากเชื้อเอชไอวี โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้

โรคแทรกซ้อนจากเอดส์นั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเสียชีวิตเพราะหลายๆ โรค เราก็สามารถอยู่และจัดการกับมันได้เช่นกัน ด้วยการรักษาและการทานยาต้านไวรัส จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแกร่งขึ้น

เชื้อเอชไอวีพบได้ที่ไหนบ้าง?

สารคัดหลั่งหรือน้ำทุกชนิดที่ออกจากร่างกายมีเชื้อเอชไอวีมากน้อยต่างกัน

ที่มีเชื้อปริมาณมาก : เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, น้ำจากเลือดประจำเดือน, น้ำนมแม่
ที่มีเชื้อปริมาณน้อย : น้ำตา, น้ำลาย, น้ำมูก, เสมหะ
แทบจะไม่มีเชื้อ : อุจจาระ, ปัสสาวะ, เหงื่อ

ทำไมน้ำสารคัดหลั่งต่างๆจึงมีปริมาณไวรัสไม่เท่ากัน?

ไวรัสเอชไอวีชอบเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดเพื่อแบ่งตัวและเจริญเติบโต ดังนั้นน้ำสารคัดหลั่งใดที่มีเม็ดเลือดขาวหรือเลือดเข้าไปเกี่ยวข้องจึงมีไวรัสมาก เช่น เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, ประจำเดือน, น้ำหนอง, ในทางตรงข้ามน้ำใดไม่มีเลือด หรือไม่มีเม็ดเลือดขาวปะปนก็จะมีปริมาณไวรัสเอชไอวีน้อย เช่น ปัสสาวะ, อุจจาระ และเหงื่อ เป็นต้น

เชื้อเอชไอวีอยู่นอกร่างกาย อยู่นานแค่ไหน?

เชื้อเอชไอวีร้ายก็จริงแต่ใจเสาะครับ ไม่สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกได้ โดยทั่วไปมันจะอยู่ได้เป็นชั่วโมงหรือแค่ไม่เกินวัน ทั้งนี้อยู่ที่สิ่งแวดล้อม ถ้าถูกความร้อน ความแห้ง กรดด่างหรือแสงแดดก็หงิกแล้ว แต่ถ้าได้ที่เหมาะสมๆ มีความชื้นดีๆ หรือห้องแอร์ที่เย็นจัด (ราวๆ 20 องศาเซลเซียส) ก็อยู่ได้ หลายวันแต่ไม่ถึงสัปดาห์

เชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายสัตว์อื่นได้หรือไม่?

มีคนกับลิงบางชนิดเท่านั้นที่เชื้อเอชไอวีจะมีชีวิตอยู่ได้ เชื้อเอชไอวีไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ในสัตว์อื่น เช่น สุนัข,แมว,วัว,ควายหรือแม้แต่ยุง เชื้อก็จะตายภายในเวลาไม่นานนัก ดังนั้นยุงที่มาดูดเลือดคนมีเชื้อเอดส์ เชื้อก็จะตาย เชื้อในตัวยุงไม่สามารถติดต่อไปยังคนอื่นที่ถูกยุงกัดได้

เราจะติดเอดส์ได้จากไหนบ้าง ?

โดยหลัก ๆ ก็มี 3 ทาง

  1. เลือดและการถ่ายเลือด รวมทั้งใช้เข็มร่วมกัน เครื่องมือที่ไม่สะอาดมีคราบเลือดปนเปื้อนหรือมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองของคนมีเชื้อเอชไอวี
  2. ทางการร่วมเพศ รวมทั้งการร่วมเพศระหว่างชายหญิง,ชายกับชาย,โดยร่วมเพศทางช่องคลอดหรือทาง ทวารหนัก ทั้งนี้รวมทั้ง Oral sex โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปากกับอวัยวะเพศชายที่มีเชื้อเอชไอวี
  3. จากมารดาสู่ทารก (Vertical Transmission) ส่วนใหญ่จะติดระหว่างการคลอด และส่วนน้อยที่ติดระหว่างอยู่ในครรภ์และระหว่างให้ลูกดูดนมแม่

 

 

แบบไหนเสี่ยงมากที่สุด?

  • รับเลือดครับ โดยเฉพาะรับการถ่ายเลือดทั้งขวดติดเกือบ100% แต่ปัจจุบันนี้เลือดทุกขวดได้รับการตรวจอย่างดีแล้วดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล
  • ส่วนการร่วมเพศ โอกาสติดต่อน้อยกว่าเลือดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การร่วมเพศทางทวารหนักจะมีโอกาสติดสูงกว่าทางช่องคลอดและทางปากตามลำดับ และผู้ที่เป็นฝ่ายรับก็จะมีโอกาศติดเชื้อมากกว่าผู้สอดใส่
  • ส่วนการติดจากแม่ไปสู่ลูก ถ้าแม่ไม่ไดรับยาต้านเอดส์ระหว่างตั้งครรภ์ลูกมีโอกาสติด 22% แต่ถ้ารับยาระหว่างฝากครรภ์โอกาสเหลือ 6% และถ้าไม่ได้กินนมแม่ด้วย โอกาสก็ลดลงอีก
  • Reference
    1. Connor E, Sperling R, Gelber R, et al. Reduction of maternal-infant transmission of human immunodeficiency virus type 1 with zidovudine treatment. Pediatric AIDS Clinical Trials Group Protocol 076 Study Group. N Entl J Med. 1994;331:1173-1180.
    2. Shaffer N, Chuachoowong R, Mock P, et al. Short-course zidovudine for perinatal HIV-1 transmission in Bangkok, Thailand: a randomized controlled trial. Bangkok Collaborative Perinatal HIV Transmission Study Group. Lancet. 1999;353:773-780.

สาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด?

แม้การให้เลือดมีโอกาสติดต่อสูงมากแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด เพราะการให้เลือดไม่บ่อยและปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีในเลือดทุกถุง แต่การมีเพศสัมพันธ์นั้นเมื่อเทียบกับการบริจาคเลือดมีแนวโน้มที่จะมีการกระทำที่บ่อยที่สุด จึงเป็นสาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด

นอกเหนือ 3 ทางหลักที่ติดต่อแล้วมีทางอื่นอีกไหม?

มีครับ แต่ก็น้อยเช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนไต, ปลูกถ่ายไขกระดูก, ผสมเทียม ที่ใช้อสุจิผู้อื่นที่ไม่ใช่สามี โดยไม่ตรวจเลือดเจ้าของอสุจิก่อน, ฝังเข็ม, เจาะหู, สักยันต์, การใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกน

ติดหรือไม่มีติด มีปัจจัยอะไรบ้าง?

เชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดกันง่ายๆ อย่างที่เข้าใจกัน ขนาดไปยุ่งกับคนมีเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องติดเสมอไป มันมีปัจจัยมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV Viral Load) ถ้าสิ่งสัมผัสนั้นมีปริมาณไวรัสมาก โอกาสติดเชื้อก็มาก ถ้ามีไวรัสน้อยโอกาสติดเชื้อก็น้อย

ปริมาณไวรัสเอชไอวีเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ เลือด, น้ำอสุจิ, น้ำจากช่องคลอด, บาดแผล ผิวหน้ามีหน้าที่ปกป้องร่างกายไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าผิวหนังมีรอยแตกเป็นแผลก็มีโอกาสที่ส่วนเยื่อบุต่างๆเป็นเยื่อบางๆ เช่น เยื่อบุในปาก ตา ช่องคลอด มีโอกาสเป็นรอยแผลเล็กๆได้จึงต้องระมัดระวังอย่าให้เข้าปากเข้าตา (เห็นหนังฝรั่งที่เขาใส่แว่นตาดำไหมครับ, หมอใช้ผ้าปิดปาก) แผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น แผลเริม แผลริมอ่อน แผลซิฟิลิส ก็เป็นแหล่งรอรับเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน ความบ่อยในการสัมผัส ร่วมเพศกับคนที่มีเอชไอวีครั้งเดียวอาจจะไม่ติดก็ได้ หรือถูกเข็มตำครั้งเดียวก็อาจจะไม่ติดก็ได้เช่นกัน ซึ่งขึ้นกับปัจจัยอื่นประกอบด้วย

 

พ่อเป็นเอดส์แต่แม่ไม่เป็น ลูกเป็นไหม?

ไม่เป็นครับ ลูกที่ติดเอชไอวีจะต้องติดจากแม่เท่านั้น เชื้ออสุจิจากพ่อไม่มีเชื้อเอชไอวี (ยกเว้นน้ำอสุจิ)

นมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีติดลูกไหม?

ติดครับ เดี๋ยวนี้เขาห้ามแม่ที่มีเชื้อเอดส์ให้ลูกดูดนม แต่ให้ใช้นมผงแทน

อยู่บ้านเดียวกัน จะติดเชื้อเอชไอวีไหม?

ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ติด ถ้าเพียงแค่อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวด้วยกัน จับมือถูกเนื้อต้องตัวตามปกติ นอนเตียงเดียวกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซักเสื้อผ้าร่วมกัน แค่นี้ไม่ติดครับ

 

 

คู่นอนมีเชื้อเอชไอวีมีโอกาสติดเรามากแค่ไหน?

โอกาสรับเชื้อมีมาก คำว่ามีมากก็ไม่ได้แปลว่าต้องติดเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่การใช้ถุงยางอนามัยป้องกันก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้ นอกจากนั้นถ้าหากว่าคู่นอนที่รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอจนมีปริมาณเชื้อไวรัสต่ำโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อติดต่อไปยังคนอื่นก็น้อยลงเช่นกันครับนอกจากนั้นการคนที่จะติดเชื้อต้องมีการกระทำที่”บ่อยครั้ง” หรือ”ซ้ำซาก” และขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย และยังขึ้นอยู่กับช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการร่วมเพศครั้งเดียวกับคนมีเชื้ออาจติดเอชไอวีก็ได้ ไม่ติดก็ได้ แบบซื้อลอตเตอรี่นั่นแหละครับ อาจถูกก็ได้ ไม่ถูกก็ได้ (แต่ติดเอดส์มีโอกาสมากกว่าถูกล็อตเตอรี่นะครับ) อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ใช่ภรรยาหรือสามีละก้อใส่ถุงยางอนามัยดีที่สุด เพราะพลาดแล้วไม่มีโอกาสแก้ตัวอย่าเสี่ยงดีกว่า

จูบคุณคิดว่าไม่สำคัญ?

ก็ไม่สำคัญจริงๆแหละ ในน้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อย จูบธรรมดาไม่ติดหรอกครับ มีคนคำนวณว่าปริมาณน้ำลายที่มีเชื้อพอที่จะติดต่อกัน ต้องมีอย่างน้อย 1 ขวดลิตร

ลงอ่างติดเอชไอวีไหม?

ปกติเชื้อไวรัสเอชไอวีมักใจเสาะ โดนน้ำอุ่นในอ่าง โดนสบู่จำนวนไวรัสก็ตายไปแยะแล้ว ยิ่งเจอน้ำประปาในเมืองไทยกลิ่นคลอรีนคลุ้งไปหมดเชื้อเอชไอวีก็อยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้นถ้าไปอาบน้ำเฉยๆ ก็สบายใจได้เลยครับ

ใช้ห้องน้ำร่วมกับคนมีเชื้อเอชไอวี..ติดไหม?

อุจจาระและน้ำปัสสาวะมีปริมาณไวรัสที่น้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ ดีไม่ดีโดนน้ำยาฆ่าเชื้อก็หงิกไปเลย ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำจากช่องคลอดก็ไม่สามารถอยู่ในห้องน้ำได้นาน แม้จะสัมผัสถูกผิวหนังบางส่วนนอกร่างกายก็ไม่สามารถผ่านสู่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดเป็นครั้งคราวก็ช่วยได้เยอะ เพราะน้ำยาเหล่านี้เป็นตัวฆ่าเชื้อเอชไอวีโดยตรงทีเดียว

กินอาหารกับคนมีเชื้อเอดส์ ติดไหม?

ไม่ติดครับ น้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ และถ้าเป็นอาหารร้อนๆยิ่งทำให้เชื้อเอชไอวีตายเร็วขึ้น แม้เชื้อเอชไอวีจะลงสู่กระเพาะก็จะโดนกรดในกระเพาะทำลายไป ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีคนติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีนี้ ถ้ากลัวมากใช้ช้อนกลางครับ

คนทำอาหารมีเลือดออก จะติดไหม?

เลือดที่หยดลงอาหาร ถ้าอาหารนั้นได้ผ่านการอุ่นหรือหรือทำให้ร้อน 50 องศาเซลเซียส นานกว่า 15 นาที เชื้อเอชไอวีก็ตายหมดแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้อุ่นก็มีสิทธิ์ได้ (แต่ไม่มาก) ถ้าปากเรา ฟันเรา เหงือกเรา ไม่มีแผล ไม่ผุไม่อักเสบ ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าไหร่

ในสระว่ายน้ำด้วยกัน จะติดไหม?

แม้จะมีเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำอสุจิ หรือน้ำจากช่องคลอด น้ำปัสสาวะลงไปในสระ มันก็จะถูกเจือจาง ไปจนปริมาณไม่เข้มข้นพอที่จะติดต่อได้ และคลอรีนในสระก็เป็นตัวฆ่าเชื้อโรค ที่ดีอีกด้วย ไม่มีอะไรต้องห่วงครับ

ยุงกัด ติดไหม?

ยุงไม่ใช่พาหะนำเชื้อเอชไอวีได้ เหมือนยุงลายนำเชื้อไข้เลือดออก หรือยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรีย เชื้อเอชไอวีเองก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้นานเมื่อยุงดูดเลือดคนที่มีเชื้อเอชไอวีไปแล้วไม่นานเชื้อจะตายอยู่ในกระเพาะยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่นก็ไม่ติดต่อ อีกอย่างเชื้อเอชไอวีไม่สามารถแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตในกระเพาะยุงได้ จึงไม่สามารถเล็ดลอดไปสู่น้ำลายยุง จึงไม่ติดต่อ แล้วปากยุงที่เพิ่งกัดคนมีเลือดเอชไอวีบวกล่ะ ข้อนั้นไม่ต้องห่วงเพราะปากยุงมักไม่มีเลือดติดอยู่หรือ แม้จะมีก็น้อยมาก ไม่เหมือนเข็มฉีดยา ที่อาจมีเลือดติดซ่อนอยู่ได้ ดังนั้นถึงแม้จะกัดคนหลายคนก็ไม่ติดครับ เคยมีการศึกษาให้ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากนั้น4 ชั่วโมง

คนบ้าเที่ยวเอาเข็มมาไล่ทิ่มชาวบ้าน จะติดไหม?

ถ้าคนบ้านั้นมีเชื้อเอชไอวีใช้เข็มทิ่มแทงตัวเองมีเลือดสดๆติดอยู่ก็มีสิทธิ์ติด แต่ถ้าเข็มที่โดนเลือดมานานเป็นชั่วโมงปริมาณเชื้อก็จะตายไปแยะ โอกาสติดก็น้อยลงครับ

ใช้เสื้อผ้าร่วมกับคนมีเชื้อเอดส์ติดไหม?

ไม่ติดแน่นอน ไม่ว่าเสื้อผ้านั้นจะซักหรือไม่ซักก็ตาม เพราะเหงื่อ (หรืออาจมีน้ำลายด้วย) ไม่มีปริมาณมากพอที่จะก่อโรคได้ (แม้เรามีแผลก็ตาม) ยิ่งถ้าได้ซักก่อนโดนผงซักฟอก โดนเครื่องซักผ้าหมุนติ้วอย่างนั้นก็เวียนหัวตายไปแล้วครับ

SEX ชายรักชายโรคยังพุ่งสูง อย่าลืมป้องกัน มีกันอย่างถูกวิธี

Heart image created by Freepik

ปัจจุบันกลุ่มชายรักชาย เป็นสิ่งที่สังคมเปิดรับในวงกว้าง หลายต่อหลายคู่ก็สามารถครองรักกันอย่างยาวนาน ร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมทางกันอย่างมีความสุขได้ แต่ก็ยังมีกลุ่มชายรักชายจำนวนไม่น้อย ที่ยังมีความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ ต่อการปฏิบัติตนเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ปัจจุบัน โรคที่เกิดจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ยังคงพุ่งสูง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

ล่าสุดกรมควบคุมโรค ประกาศเตือนประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นและกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตามแนวคิด “SEX รอบคอบ ตอบ OK” หลังแนวโน้มของผู้ป่วยโรคดังกล่าวยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 50 แนะวัยรุ่นปฏิเสธเมื่อไม่พร้อม และหลีกเลี่ยงการอยู่สองต่อสอง โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก ประชาชนหลายคนจะเลือกซื้อสิ่งของแทนใจ เพื่อแสดงความรักและมอบสิ่งดีๆให้แก่กัน นอกจากนี้ วัยรุ่นส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษและอาจตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ได้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านให้ป้องกันทุกครั้ง ก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 

ปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข โดยตั้งเเต่ปี 2550 พบว่ามีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายทั้งในเขตเมืองและชนบท เหตุเพราะขาดความรู้     ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงอาจความตระหนักถึงอันตรายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  และการเข้าไม่ถึงการป้องกันและการตรวจรักษาที่มีประสิทธิภาพ  สำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบในประเทศไทย เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคเริม เป็นต้น

Floral image created by Freepik

ส่วนวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และต้องใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี โดย “เลือกถูกไซส์ พกกันไว้ ใช้ถูกสเต็ป เก็บถูกวิธี” ดูวันผลิตและวันหมดอายุ และเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่ไม่มีรอยฉีกขาด กรณีการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือคู่ที่ไม่มีน้ำหล่อลื่น ควรใช้สารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นตัวทำละลายควบคู่ไปกับการใช้ถุงยางอนามัยด้วย หากสงสัยหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อ และไปตามนัดทุกครั้งจนกว่าจะหายขาด  นอกจากนี้ ควรชวนคู่ไปตรวจด้วย เพื่อเป็นการป้องกันโรคและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ให้งดการร่วมเพศจนกว่าจะหาย ที่สำคัญไม่ควรซื้อยากินเอง

ในโอกาสเทศกาลวันแห่งความรักปีนี้ กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำสำหรับกลุ่มวัยรุ่นในการปฎิบัติตัวให้ความรักช่วงวันวาเลนไทน์เป็นรักที่ปลอดภัย 4 ข้อ ตามแนวคิด “SEX รอบคอบ ตอบ OK : เรื่องเท่ๆกับรักของเรา” ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงไม่อยู่สองต่อสอง หรือไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

2.กล้าปฏิเสธ เมื่อไม่พร้อมมีเพศสัมพันธ์ หรือเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

3.พกถุงยางอนามัยติดตัวเสมอ และใช้อย่างถูกวิธี

4.ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะการใช้ถุงยางอนามัยแสดงถึงความรับผิดชอบตนเองและคู่ ให้ปลอดภัยไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน ร่วมตรวจสุขภาพทางเพศให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง  หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

“รุก-รับ” แบบไหนเสี่ยง “เอดส์” สุด

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
แม้จะไม่แน่ชัดว่าประชากรกลุ่ม “ชายรักชาย” เช่น เกย์ กะเทย มีจำนวนมากน้อยเท่าไร แต่ที่ต้องยอมรับคือคนกลุ่มนี้เลิกแอ๊บ! และมีการแสดงตัวต่อสังคมมากขึ้น อาจเนื่องด้วยสังคมไทยเปิดกว้างกับเรื่องทางเพศมากกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประชากรกลุ่มนี้คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคเอดส์

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะจากการสำรวจสถานการณ์โรคเอดส์ในไทย พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 9,000-10,000 คน สาเหตุของการติดเชื้อร้อยละ 85 มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกัน ส่วนกลุ่มที่มีการติดเชื้อมากที่สุด หากไม่นับการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันแล้ว กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายนี่เองที่มีการติดเชื้อมากที่สุด

ส่วนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เล่าว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณเกือบ 5 แสนคน แต่มีการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ รวมถึงพบเชื้อแล้วทำการรักษาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นคือ 2 แสนกว่าราย ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การรณรงค์ให้มาตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงคือ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และควรมาตรวจทุกปีเพื่อความแน่ใจ เพราะหากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้

สอดคล้องกับ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ที่บอกว่า ไม่ว่าคุณจะมีเพศสัมพันธ์ทางใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือแม้แต่ทางปากหรือออรัลเซ็กซ์ ก็ควรที่จะมาตรวจเชื้อหาเอชไอวี โดยเฉพาะกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ซึ่งมีการร่วมรักกันผ่านทางทวารหนัก มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดในผู้หญิงถึง 10 เท่า เนื่องจากทวารหนักมีความเปราะบางกว่าช่องคลอด
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (ภาพจาก youtube ชื่อคลิป Alcohol and Drugs effect Antiretroviral Medications treatment and procedure)

“จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคู่ต่างคือฝ่ายหนึ่งมีการติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีการติดเชื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิงนั้น หากผู้ติดเชื้อเป็นฝ่ายรุก ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อเป็นฝ่ายรับ เมื่อมีการหลั่งน้ำภายในทวารหนักของฝ่ายชายหรือในช่องคลอดของฝ่ายหญิง ฝ่ายรับจะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า แต่หากผู้ติดเชื้อเป็นฝ่ายรับ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อเป็นฝ่ายรุก กรณีเช่นนี้ฝ่ายรุกจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า”

อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายรุกที่ไม่ติดเชื้อจะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีน้อยกว่า แต่ พญ.นิตยา บอกว่า ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้อเลย ดังนั้น การป้องกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ซึ่งพื้นฐานในการป้องกันคือการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะสามารถช่วยป้องกันโรคได้ และอีกแนวทางหนึ่งที่มีผลการศึกษาชัดเจนแล้วว่า การรักษาด้วยการรับยาต้านไวรัส สามารถป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีได้ ไม่ว่าจะเป็นจากแม่ไปสู่ลูก หรือจากคู่รักไปสู่คู่รัก

พญ.นิตยา อธิบายว่า การรับยาต้านไวรัสจะเป็นการกดเชื้อไวรัสในร่างกายลง ซึ่งเมื่อกดเชื้อไวรัสจนไม่พบในกระแสเลือด โอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นจึงน้อย และยิ่งมารับยาต้านไวรัสเร็วเท่าไรก่อนภูมิคุ้มกันหรือค่า CD4 ของร่างกายจะต่ำลง ก็จะยิ่งลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น ซึ่งจากการวิจัยโครงการ HPTN 052 โดยศึกษาอาสาสมัครคู่ต่างกว่า 1,700 คู่ ใน 9 ประเทศ รวมทั้งไทย พบว่า กลุ่มที่กินยาต้านไวรัสเร็ว ก่อนที่ค่า CD4 จะตก มีการติดเชื้อไปสู่คู่รักเพียง 0.0-0.4 คน ใน 100 คนต่อปีเท่านั้น คือต่ำกว่า 0-1% ส่วนกลุ่มที่กินยาต้านไวรัสเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำกว่า 250 ซึ่งถือว่าป่วยแล้ว พบว่าป้องกันได้แต่น้อยกว่า โดยมีโอกาสติดเชื้อไปสู่ผู้อื่นอยู่ที่ 1.1-2.5 คน ใน 100 คนต่อปี

เรียกได้ว่าการกินยาต้านไวรัสเร็วก่อนค่า CD4 จะตก ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่คนอื่นได้มากกว่าการกินยาต้านไวรัสเมื่อค่า CD4 ตกแล้วสูงถึง 96% แต่ที่จะลืมไม่ได้เลยคือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ คนหนึ่งจะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะต้องสวมถุงยางอนามัยป้องกัน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากคุณรักตัวเองและคู่รักของคุณก็ควรกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อให้ไวรัสในร่างกายของคุณไม่ไปติดหรือไม่ไปทำร้ายคนที่คุณรักต่อไป

บทความเรื่อง “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่” โดย ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์

การแพร่หรือการส่งต่อไวรัสเอชไอวีจากคนหนึ่ง (ที่ติดเชื้อ) ไปสู่อีกคนหนึ่ง (ที่ยังไม่ติดเชื้อ) เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน กับคนที่ติดเชื้อ หรือจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดที่ปนเปื้อนเลือดของคนที่ติดเชื้อจะแพร่หรือส่งต่อเชื้อได้จะต้องมีปริมาณเชื้อที่มากได้ระดับหนึ่งในเลือด หรือในน้ำคัดหลั่งที่อยู่ในช่องคลอด ช่องทวารหนัก หรือในน้ำกาม โดยทั่วไปจะใช้เกณฑ์ปริมาณไวรัสในเลือดมากกว่า 200 – 1,000 ตัว (copies) ต่อซีซี ของเลือดเป็นตัวเทียบเคียง ผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 90-95 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะมีปริมาณไวรัสในเลือดต่ำกว่า 50 copies ต่อซีซีของเลือด ที่เราเรียกกันว่าตรวจไม่เจอ (undetectable) ซึ่งไม่ได้แปลว่าเชื้อหมดจากร่างกายแล้ว เพียงแต่มีเหลือน้อยมากจนชุดทดสอบตรวจไม่เจอ ชุดทดสอบอาจตรวจเจอได้ต่ำสุดที่ 20 หรือ 40 หรือ 50 copies ที่ตรวจไม่เจอ เพราะยาต้านฯไปกดเชื้อไว้ ถ้าหยุดกินยาต้านฯ เชื้อก็จะกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น จะตรวจไม่เจอได้ก็ต้องกินยาต่อเนื่องตรงเวลาไปเรื่อย ๆ และตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง หรืออาจบ่อยกว่านั้นถ้ามีประวัติขาดยา

คำถามสำคัญคือ ผู้ติดเชื้อที่กินยาจนตรวจไม่เจอไวรัสในเลือดแล้ว

ยังสามารถส่งต่อเชื้อให้คู่นอนเขาได้หรือไม่?

ในระยะ  8 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาหลายการศึกษาทั่วโลกที่ติดตามคู่นอน  (ชายกับหญิง และ ชายกับชาย) ของผู้ติดเชื้อที่กินยาต้านฯ จนตรวจไม่เจอเชื้อในเลือดแล้ว ว่าจะมีโอกาสติดเชื้อขึ้นจากคู่นอนของเขาได้มากน้อยเพียงใด โดยติดตามคู่นอนที่มีผลเลือดต่าง (คนหนึ่งบวกหรือติดเชื้อ อีกคนหนึ่งลบหรือไม่ติดเชื้อ) ซึ่งเคยมีประวัติว่าไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยบ้าง ไปเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อดูว่าจะมีอัตราการติดเชื้อขึ้นมามากน้อยเพียงใด  ทุกคู่จะได้รับคำแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์ พร้อมมีถุงยางอนามัยกับสารหล่อลื่นแจกให้   หลังจากติดตามคู่ไปหลายปี ก็มีการประกาศผลในที่ประชุมเอดส์นานาชาติที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ว่าไม่ปรากฏว่ามีใครติดเชื้อแม้เพียงคนเดียว จากการติดตามคู่ชายหญิงที่มีผลเลือดต่าง 888 คู่ คู่ชายกับชายที่มีผลเลือดต่าง 698 คู่ รวมเป็นคู่ที่มีผลเลือดต่างทั้งหมด 1,586 คู่จากหลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ทั้งๆที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยรวมแล้วกว่า  70,000 ครั้ง ก็ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีแม้แต่รายเดียว  กล่าวคือ ไม่แพร่ (Untransmittable)แม้ว่าการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ยังมีอยู่  ขณะที่การไปมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอกโครงการ โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย 4,800 ครั้ง พบมีการติดเชื้อจากคู่นอกโครงการ 3 ราย จึงมีการประกาศเป็นครั้งแรกว่า ไม่เจอ=ไม่แพร่ หรือ Undetectable=Untransmittable (U=U)   

ในการประชุมปีถัดมาที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 มีการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ PARTNER 2 ซึ่งแยกดูเฉพาะคู่ชายกับชายที่มีผลเลือดต่าง 972 คู่ โดยมีการเก็บข้อมูลจำนวนครั้งที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย  และไม่มีการใช้ยาป้องกันก่อน และหลังการสัมผัสเชื้อ  และคู่นอนที่ติดเชื้อยังมีปริมาณไวรัส  ในเลือดน้อยกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด (ตรวจไม่เจอ) พบว่าแม้จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย รวมแล้ว 76,991 ครั้ง (เฉลี่ยปีละ 43 ครั้งต่อคน) ไม่พบมีใครติดเชื้อแม้เพียงรายเดียว  (ผู้รายงานพูดว่าพยายามหาเท่าไรก็หาไม่เจอ!) แต่พบมีคนที่ติดเชื้อขึ้นมาใหม่ 15 คนซึ่งพิสูจน์ได้ว่าทุกคนติดมาจากคนนอกคู่   เป็นที่น่าสังเกตว่าร้อยละ 37  ของคนที่ไม่ติดเชื้อในโครงการนี้ยังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันกับคนที่ไม่ใช่คู่ของตัวเอง แสดงว่ายังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่  จากผลการศึกษาที่นำเสนอเพิ่มเติมในการประชุมปีนี้ตอกย้ำเรื่อง ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U) ว่าเป็นเรื่องจริง แม้จะดูเฉพาะคู่ที่มีผลเลือดต่างที่เป็นชายกับชาย เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคู่ที่เป็นชายกับหญิง

หัวใจสำคัญของประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่คือ คนที่ติดเชื้อต้องกินยาต่อเนื่อง และต้องตรวจวัดปริมาณไวรัสในเลือดเป็นประจำถ้าน้อยกว่า 200 copies ต่อซีซีของเลือด  ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของเขา ก็ไม่ทำให้คู่นอนติดเชื้อ 

โดยมีการถามกันว่า แม้จะมีการพูดถึง U=U ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีการนำประเด็นนี้ไปเผยแพร่ หรือไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเท่าไรนัก ทั้งนี้เพราะยังมีหลายฝ่าย ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนทั่วไปยังเป็นกังวลว่า บางประเทศอาจไม่สามารถตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดได้  คนไข้อาจกินยาไม่ต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณเชื้อกลับเพิ่มมากขึ้น จะเป็นอันตรายกับคู่  หรือเป็นห่วงว่าพูดไปแล้วอาจทำให้ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจมากขึ้น หรือทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆเป็นกันมากขึ้นเพราะไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันแล้ว  ข้อกังวลต่างๆ เหล่านี้มีมูลความจริง จะต้องช่วยกันแก้ หรือต้องให้คนไข้ร่วมมือ แต่ไม่ใช่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการนำประเด็น U=U ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวคนไข้เอง หรือต่อสังคม ซึ่งมีประโยชน์มหาศาล หรือมีประโยชน์มากกว่าข้อกังวลเยอะ

 

ในแง่ของระบบบริการสาธารณสุข แพทย์และพยาบาลน่าจะใช้ประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่อธิบายให้คนไข้เข้าใจ เพื่อจะได้ตั้งใจกินยาอย่างต่อเนื่อง และไปตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดตามสิทธิ์ทุกปี หรือตรวจเพิ่มถ้าขาดยา  พร้อมทั้งจัดบริการต่างๆให้พร้อม คอยติดตามถ้าคนไข้ไม่มาตามนัด ใช้สูตรยาที่มีประสิทธิภาพในการกดเชื้อจนตรวจไม่เจอ และมีบริการการตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นมิตรในโรงพยาบาล เป็นต้น เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะรู้จัก U=U ด้วยซ้ำ  ในแง่ผู้ติดเชื้อ ก็ต้องเข้าใจว่าถ้าจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอน จะต้องกินยาต่อเนื่อง และไปตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดทุกปีตามสิทธิ์ และต้องรู้ผลของการตรวจนั้นว่าตรวจไม่เจอจริงหรือไม่ และต้องไปตรวจซ้ำถ้ามีการขาดยา ระหว่างนั้นต้องกลับมาใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนและที่มีประโยชน์มากที่สุดกับผู้ติดเชื้อคือ ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น มีความมั่นใจตนเองมากขึ้น  กล้าตัดสินใจเปิดเผยผลเลือดของตนให้คู่นอนทราบมากขึ้น กล้าชวนคู่ไปตรวจเอดส์มากขึ้น กล้าตัดสินใจตั้งครรภ์มากขึ้น และเลิกโทษว่าตัวเองอาจทำให้คู่ติดเชื้อขึ้นมา เพราะไม่สามารถใส่ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง  หรือไม่ต้องกลัวว่าพูดไม่จริงกับหมอเวลาหมอถามว่าใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งหรือเปล่า ก็ตอบว่าทุกครั้งเพราะเกรงใจหมอ ทั้งๆที่ในชีวิตจริงทำไม่ได้ทุกครั้ง  ในแง่คู่นอนของผู้ติดเชื้อถ้ายังไม่ติดเชื้อ และรู้ว่าคู่ของตัวติดเชื้อ ก็ต้องให้กำลังใจคู่ของตัวให้กินยาต่อเนื่อง และไปตรวจเลือดสม่ำเสมอ เวลาจะไปมีเพศสัมพันธ์นอกคู่ ต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากคนที่ไม่ใช่คู่ และป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจนำกลับมาแพร่ให้คู่ของตัวเองได้  ในแง่ประชาชนทั่วไป หรือในภาคประชาสังคมประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่มีประโยชน์กว้างใหญ่ไพศาลกว่ากันมาก เมื่อสังคมเข้าใจประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ จะได้เลิกรังเกียจ และกีดกันผู้ติดเชื้อ สนับสนุนผู้ติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษา ไม่มีเหตุผลในการห้ามผู้ติดเชื้อไม่ให้เข้าทำงาน เพราะผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาแล้วไม่เป็นอันตรายต่อคู่นอนของเขาแม้จะไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็ตาม เขาก็ยิ่งไม่เป็นอันตรายต่อคนในที่ทำงาน อีกทั้งคนไข้ที่ได้รับยาก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุขัยเท่าคนอื่นๆที่ไม่ติดเชื้อ  สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้ไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ และไม่เพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาลให้กับองค์กร เพราะรัฐรับภาระการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่น่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้สังคมมองโรคเอดส์เป็นโรคอันตราย เลิกตีตรา และเลิกรังเกียจผู้ติดเชื้อเสียที นอกจากนี้ประเด็นไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ยังสามารถรณรงค์ให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือไม่เคยไปตรวจเลือดจะได้กล้าไปตรวจ เพราะถ้าตรวจเจอจะได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาทันที รักษาแล้วจะได้ไม่ป่วย มีอายุยืนเท่าคนอื่น และที่สำคัญจะช่วยป้องกันคนที่รักได้ด้วย

โดยสรุป ถ้าติดเชื้อและกินยาจนตรวจไม่เจอเชื้อในเลือดแล้ว คนๆนั้นไม่เป็นอันตรายกับใคร แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของเขาโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็ตาม  เรียกว่า ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (U=U)  เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมควรรู้ เพื่อลดการตีตราและรังเกียจผู้ติดเชื้อ คนที่อาจมีเชื้ออยู่แล้วจะได้กล้าไปตรวจ คนที่ตรวจเจอจะได้กล้าไปรักษาและรักษาให้ดีจะได้ไม่ส่งต่อเชื้อให้ใคร  เอดส์ก็จะยุติได้ในประเทศนี้และโลกนี้

 

ด้วยความปรารถนาดี

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

ยาต้านไวรัสเอดส์ของอภ.บรรจุในบัญชีรายชื่อของ WHO

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ยาต้านไวรัสเอดส์ของอภ.บรรจุในบัญชีรายชื่อของ WHO แล้ว thaihealth

ยาต้านไวรัสเอดส์ “เอฟฟาไวเรนซ์” ของอภ.ผ่านรับรองมาตรฐานสากล ถูกบรรจุในบัญชีรายชื่อของ WHO นับเป็นรายการแรกของไทย-อาเซียน สามารถส่งขายทั่วโลกช่วยผู้ป่วยเอดส์กว่า 20 ประเทศเข้าถึงยา “ฟิลิปปินส์” สนใจสั่งมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ชนิดเม็ด ขนาด 600 มิลลิกรัม ( Efavirenz Tablets 600 mg) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้รับรองมาตรฐานสากล WHO Prequalification Program (WHO PQ) จากองค์การอนามัยโลก (WHO)หรือฮู กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนส.ค.2561 โดยฮูได้ขึ้นบัญชีรายการยานี้ไว้ในบัญชีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก( WHO Prequalified List) แสดงอยู่บนเวบไซต์ของฮู เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรสาธารณสุขนานาชาติ จัดซื้อยาจากผู้ผลิตที่ได้ผ่านกระบวนการตรวจรับรองนี้เท่านั้น อาทิ กองทุนโลก (Global Fund) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่ทำหน้าที่ในการจัดซื้อจัดหายาให้กับประเทศสมาชิกที่ต้องการยา หรือประเทศที่ด้อยโอกาสต่อการเข้าถึงยา นับเป็นยารายการแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ได้รับการรับรองนี้ เพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยต่อผลิตภัณฑ์ยาของอภ. ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งตลาดยาภายในประเทศและต่างประเทศ

“ยาต้านไวรัสเอดส์เอฟฟาไวเรนซ์ ขนิดเม็ด ขนาด 600 มิลลิกรัมป็นยาที่ผู้ป่วยเอดส์มีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่แนะนำให้เป็นสูตรแรก (first line regimen) ตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่ใช้ยานี้ประมาณ 80,000 ราย ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz จะช่วยลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเอชไอวี เช่น การติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสซึ่งเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค การติดเชื้อที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ดีขึ้น นอกจากจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทยให้เข้าถึงยาคุณภาพได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการช่วยเหลือผู้ป่วยในภูมิภาคอาเซียน หรือประเทศอื่นๆอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือของฮูกับ หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาแต่ละประเทศ ส่งผลให้องค์การฯ สามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาเอฟฟาไวเรนซ์ ไปยังประเทศเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนตำรับยาไปยังประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีมูลค่าการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นราว 50 ล้านบาท”นพ.โสภณกล่าส

ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า อภ.พยายามมานานกว่า 16 ปี ก็สามารถพัฒนาและนำยาตัวนี้จนผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มาตรฐานเทียบเท่ายาต้นแบบ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาดี มีคุณภาพจากเมื่อก่อนที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองทำให้ราคาสูงขวดละกว่า 1 พันบาท แต่เมื่อผลิตได้เองทำให้ราคาลดลงเหลือเพียงขวดละ 180 บาท ซึ่งกำลังการผลิตที่โรงงานผลิตยารังสิตเฟส1 เพียงพอต่อการผลิตยาใช้ในประเทศ และส่งออก โดยการผลิตปี 2561สามารถผลิตยาเอฟฟาไวเรนซ์ 42 ล้านเม็ด คิดเป็นเพียง 2.5 %ของกำลังการผลิตยาในโรงงานทั้งหมด ที่สามารถผลิตได้มากถึง 4 พันล้านเม็ด และขณะนี้ได้ส่งยาต้านไวรัสเอดส์จีพีโอเวียร์ (VIR T) ซึ่งเป็นยาสูตรรวม กินแค่เม็ดเดียว ขอรับรองจากฮูเช่นเดียวกัน คาดว่าอีก 2 ปีจะทราบผล แต่มั่นใจว่าน่าจะสามารถผ่านได้ นอกจากนี้อนาคตยังเตรียมส่งยาต้านวัณโรค และยารักษาโรคมาลาเรียเข้าสู่การรับรองด้วย