>> การตรวจเลือด
สำหรับการตรวจเลือดนั้นผู้ที่ต้องการตรวจเลือดจะต้องเตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อม ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมจนเกินไป งดดื่มสุรา งดยาบางชนิด (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง) สำหรับเรื่องของอาหารนั้นสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ยกเว้นในการตรวจหาปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด ควรงดอาหารนาน 8 – 12 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด (แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้) โดยใช้เลือดประมาณ 8 – 10 ซีซี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเลือดในร่างกายที่มีทั้งหมดประมาณ 5,000 ซีซี
โดยเลือดที่เจาะไปนั้นจะสามารถใช้ตรวจโรค …
– ตรวจนับเม็ดเลือด เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคเลือด เช่น ทาลัสซีเมีย ลิวคีเมีย
– ตรวจสมรรถภาพของตับ ช่วยในการหาสาเหตุของภาวะดีซ่าน ช่วยวินิจฉัยโรคตับ เช่น โรคตับอักเสบ
– ตรวจสมรรถภาพของไต ช่วยในการวินิจฉัยโรคของไต เช่น ภาวะไตวาย
– ตรวจระดับไขมันในเลือด ช่วยในการวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
– ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
– ตรวจหาปริมาณฮอร์โมน ช่วยวินิจฉัยโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ
– ตรวจหาโรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส
– ตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคออโตอิมมูน เช่น โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูห์มาตอยด์
>>> การตรวจปัสสาวะ
:: การตรวจปัสสาวะมีประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการบอกถึงความผิดปกติของไต และระบบทางเดินปัสสาวะ โดยบอกได้ทั้งความผิดปกติของหน้าที่การทำงาน เช่น ไตวาย และความผิดปกติทางกายวิภาค เช่น การอักเสบติดเชื้อ นิ่ว เป็นต้น
สำหรับน้องๆ ที่ต้องการตรวจปัสสาวะนั้นจะต้องมีการเตรียมตัวที่ถูกต้อง… ผู้ตรวจปัสสาวะต้องเก็บปัสสาวะที่ถ่ายหลังตื่นนอนตอนเช้า เพราะจะมีความเข้มข้น สามารถพบตะกอนของสารต่างๆ ได้ดี แต่มีเคล็ดลับเล็กๆ คือ ควรถ่ายปัสสาวะทิ้งไปเล็กน้อยก่อนแล้วค่อยถ่ายใส่ภาชนะ เพื่อลดการปนเปื้อนของเซลล์ต่างๆ บริเวณส่วนต้นของท่อปัสสาวะ สำหรับสตรีที่มีประจำเดือน ไม่ควรตรวจปัสสาวะ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเม็ดเลือดแดงขณะเก็บปัสสาวะ ทำให้แปรผลผิดพลาดได้