เชื้อ HPV คืออะไร?

By | มิถุนายน 26, 2018

ไวรัสชนิดนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

โรคติดเชื้อเอชพีวี หรือโรคติดเชื้อไวรัส (HPV infection หรือ Human papilloma virus infection) คือโรคที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดที่เรียกว่า ไวรัสเอชพีวี (HPV หรือ Human papillomavirus) ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ในตระกูล (Family) Papillomavirus ซึ่งมีมากกว่า 150 สายพันธุ์ย่อย โดยไว้รัสแต่ละตัวในกลุ่มนี้จะมีตัวเลขระบุสายพันธุ์ย่อย เชื้อ HPV บางสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดหูดที่ผิวหนังได้ ยิ่งไปกว่านั้นบางสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

ประเภทของเชื้อ HPV

เชื้อ HPV อาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวหนังและในเยื่อมูกที่ปกคลุมหลายส่วนของร่างกาย เช่น

  • ภายในจมูก ปาก และลำคอ
  • ด้านในของเปลือกตา
  • ด้านในของผิวหนังและท่อปัสสาวะที่องคชาติ
  • ช่องคลอด ปากมดลูกและอวัยวะเพศภายนอก
  • ทวารหนัก

เชื้อ HPV ประมาณ 75% สามารถทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง เช่น ที่แขน หน้า หน้าอก มือ และเท้าได้ อ้างอิงจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นจะเรียกว่า ชนิด mucosal หรือ genital (หรือ anogenital) เนื่องจากมักจะส่งผลต่อบริเวณทวารหนักหรืออวัยวะเพศ มีเชื้อ HPV มากกว่า 40 ชนิดที่สามารถทำให้ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้

อ้างอิงจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) เชื้อ HPV ชนิด mucosal ยังแบ่งออกได้เป็นกลุ่มความเสี่ยงน้อยกับความเสี่ยงมาก เชื้อ HPV กลุ่มความเสี่ยงน้อยสามารถทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ รอบๆ อวัยวะเพศและทวารหนัก หรือภายในช่องปากและลำคอได้ 90% ของหูดที่อวัยวะเพศเกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11

อ้างอิงจากสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ ตรงข้ามกับกลุ่มความเสี่ยงต่ำ เชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงสูงสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พบเชื้อชนิดนี้แล้วประมาณ 12 ชนิด และสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งจากการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่

คุณติดเชื้อ HPV ได้อย่างไร?

หูดที่ผิวหนังมีการแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง คุณสามารถแพร่เชื้อนี้ไปยังบุคคลอื่นด้วยการสัมผัสเช่นกัน โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการได้เป็นหูดที่ผิวหนัง ประกอบด้วย เด็กและวัยรุ่น ผู้ที่ชอบกัดนิ้ว และผู้ที่มีระบบภิมคุ้มกันบกพร่อง เชื้อ HPV ชนิด Mucosal จะติดต่อผ่านการสัมผัสผัวหนังอย่างแนบชิด และมักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก แต่ก็สามารถเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปากเช่นกัน ผู้ที่ยังมีเพศสัมพันธ์ทุกคนมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HPV แม้ว่าจะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็ตาม

อาการของการติดเชื้อ HPV อาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ในช่วงที่ไม่มีอาการ หรืออาจจะได้รับเชื้อมาจากคนอื่นที่ไม่มีอาการเช่นกัน คุณจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HPV ที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้นหากคุณ…

  • ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีคู่นอนที่มีคู่นอนหลายคน
  • มีอายุน้อยกว่า 25 ปี
  • เริ่มมีเพศสัมพันธืตั้งแต่อายุน้อยกว่า 16 ปี
  • เป็นผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ
  • เป็นผู้หญิงที่มีคู่นอนเป็นชายที่ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ

ความชุกของการติดเชื้อ HPV

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อ HPV เป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยผู้ชายและผู้หญิงที่ยังคงมีเพศสัมพันธ์ทุกคนจะสามารถติดเชื้อ HPV ได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ดังนั้นการติดเชื้อ HPV มากกว่า 1 สายพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี ค.ศ. 2003 ถึง 2006 ก่อนการเริ่มใช้วัคซีน HPV มีผู้หญิงสหรัฐประมาณ 21.6% ที่มีการติดเชื้อ HPV ที่อวัยวะเพศมากกว่า 1 สายพันธุ์

ข้อมูลจากวารสาร Sexually Transmitted Diseases รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ในปี ค.ศ. 2008 มีการประมาณว่าผู้หญิง 39.9 ล้านคนและผู้ชาย 39.2 ล้านคนในประเทศสหรัฐอเมริกามีการติดเชื้อ HPV ที่อวัยวะเพศ และในแต่ละปีมีผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 15-59 ปี ที่ติดเชื้อรายใหม่ 14 ล้านคนต่อปี

คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับเชื้อ HPV

ไวรัส HPV ในผู้ชายเป็นอันตรายมากไหมครับ ?

คำตอบ: ไวรัส HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อนี้จึงพบได้บ่อยในผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์โดยพบว่าการติดเชื้อบางชนิดจะมีความสัมพันธ์กับมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง สำหรับผู้ชายการติดเชื้อชนิดนี้อาจทำให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศ และที่ทวารหนักหรือที่เรียกกันว่าหูดหงอนไก่ มะเร็งบริเวณช่องทวารและอวัยวะเพศ มะเร็งบริเวณช่องปาก หรือไม่มีอาการอะไรเลยหลังได้รับเชื้อ – ตอบโดย วิภา สุวรรณชีวะศิริ (พญ.)

เด็กสามารถเริ่มฉีดวัคซีนHPV ได้กี่ขวบค่ะ

คำตอบ: อายุของผู้ฉีด งานวิจัยชุดแรกทำในคนอายุ 9-26 ปี จึงเป็นคำแนะนำมาตรฐานว่าวัคซีนนี้เหมาะสำหรับคนอายุ 9-26 ปี แต่มีงานวิจัยอื่น ๆมาอีก ว่า อายุมากกว่านี้ ก็สามารถฉีดได้ครับ – ตอบโดย Dr.Chaiwat J.(หมอเปี๊ยก) (นพ.)

วัคซีนhpv มีแต่แจกให้เด็กมัธยมหรอคะ อายุ21รับฟรีได้มั้ย

คำตอบ: อายุ21ปี ไม่ฟรีครับ วัคซีน hpv รับฟรีได้อายุไม่เกิน 11 ปีนะครับ เกินกว่านี้ต้องไปฉีดเองที่โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิคครับ – ตอบโดย รัตน์พล อ่ำอำไพ (นพ.)

การเลือกฉีดวีคซีนป้องกัน HPV มีความคุ้มค่าเพียงใด

คำตอบ: การฉีดวัคซีน HPV จะได้ประโยชน์สูงที่สุดถ้าฉีดก่อนที่จะติดเชื้อ HPV หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV อยู่ ซึ่งผู้ชายจะไม่มีอาการผิดปกติ การฉีดวัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ในต่างประเทศจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 12-14 ปี ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ส่วนใหญ่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ 2. ยังไม่ติดเชื้อ HPV และ3. วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่ แต่หากมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังจะควรฉีดอยู่ดี เพราะเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีหลายสายพันธุ์ ที่พบได้บ่อย คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 วัคซีนบางชนิดมีการเสริมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้สามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่น แม้เราจะมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็อาจจะยังไม่เคยติดเชื้อ HPV หรือหากติดเชื้อมาแล้วก็ยังได้ประโยชน์จากวัคซีนจากวัคซีนเนื่องจากยังสามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ยังไม่เคยติดได้ – ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

คำตอบ 2: วัคซีนนี้จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉพาะสายพันธ์ที่วัคซีนนั้นผลิต วัคซีนนี้จะป้องกันโรคหูดเฉพาะสายพันธ์ที่ผลิจในวัคซีน ส่วนสายพันธ์อื่นๆป้องกันไม่ได้ วัคซีนนี้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉพาะสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อหูดที่วัคซีนนั้นป้องกัน ส่วนสาเหตุอื่นของการเกิดมะเร็งก็ป้องกันไม่ได้ หลังฉีดวัคซีนยังคงต้องตรวจหามะเร็งปาดมดลูกอยู่โดยการทำ PAP วัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบก็ต้องมีความตระหนักในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ไม่เปลี่ยนคู่นอน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งหากไม่แน่ใจค่ะ – ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 3: วัคซีน HPV สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ค่ะ แต่เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง (เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆที่ใช้ในการป้องกันโรค) ดังนั้น การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคลค่ะ ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนยังคงต้องติดตามผลต่อไป เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 – 26 ปี – ตอบโดย รัชนี รุ่งราตรี (พญว.)

อายุ24 สามารถไปฉีดวัคซีนHPVป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เปล่าคะ แล้วเข็มละเท่าไหร่คะ ค่าใช้จ่ายแต่ละโรงพยาบาล เท่ากันเปล่าคะ

คำตอบ: อายุ 24 ปี ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้เลยค่ะ แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วควรตรวจแปปสเมียร์ เพื่อหาเชื้อ HPV ก่อนเพราะถ้าได้รับเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว วัคซีนนี้จะไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาได้ค่ะ ราคาของวัคซีน โดยเฉลี่ยเข็มละ 2,000-4,000 บาทค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวัคซีนชนิดกี่สายพันธุ์ แต่หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐราคาจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นลองโทรสอบถามโรงพยาบาลที่สะดวกจะไปรับบริการก่อนได้ค่ะ – ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

เชื้อ HPV เกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ถ้าได้..สามารถตรวจเช็คได้ทางไหนบ้าง

คำตอบ: เชื้อ HPV หรือ human papilloma virus เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งติอต่อทางเพศสัมพันธ์ จากสถิติพบว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 80 ติดเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยไวรัสตัวนี้จะใช้เวลาเฉลี่ย 5 – 10 ปีในการเปลี่ยงแปลงเซลล์ปากมดลูกให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัส HPV นี้สามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV นี้ โดยปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธ์ และการตรวจเช็ค สามารถเช็คได้โดยการตรวจภายในเพื่อเช็คมะเร็งปากมดลูก โดยวิธี liquid base cytology plus HPV test คือการตรวจมะเร็งปากมดลูก และตรวจเชื้อ HPVด้วย โดยสามารถหาข้อมูลและแจ้งสูตินรีแพทย์ผุ้ตรวจด้วยว่าต้องการตรวจหาเชื้อ HPV ด้วย โดย วิธีนี้เป็นการตรวจทางชีวโมเลกุลร่วมกับการตรวจ Pap test เพื่อหาเชื้อไวรัส HPV โดยตรง ซึ่งการตรวจแบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกได้ถึงร้อยละ 90-100 โดยแพทย์จะเก็บเซลล์ตัวอย่างเพื่อทำการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ และเซลล์ที่เหลือจะนำใช้ตรวจ HPV โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างซ้ำซ้อนซึ่งจะสะดวกแก่ผู้มารับการตรวจ – ตอบโดย รัฐวิชญ์ สุนทร (นพ.)

คำตอบ 2: เชื้อ HPV จะติดเชื้อเฉพาะในเซลล์ผิวหนังและเซลล์เยื่อเมือกหรือเซลล์เยื่อบุผนัง และจะเกิดการติดต่อได้เฉพาะจากการสัมผัสโดยตรง กับเชื้อ (Skin to skin contact) ดังนั้นจึงเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่เฉพาะบางอวัยวะที่สัมผัสกับเชื้อได้โดยตรงเช่น อวัยวะเพศ ฉะนั้น คำตอบคือ HPV สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ค่ะ ส่วนอาการเช่น หากเป็นลักษณะหูดหงอนไก่ก็จะพบตุ่มเนื้องอกเล็กบริเวณปากช่องคลอด หลายๆตุ่ม ไม่มีอาการเจ็บ อาจมีอาการตกขาวมากว่าปกติ มีเลือดปนตกขาวและมีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกกระปริดกระปรอย เป็นต้น สามารถการตรวจคัดกรองการติดเชื้อได้จาก 1. การตรวจ Papanicolaou smear หรือ แปบเสมียร์ (Pap smear) โดยการใช้แผ่นไม้บางๆเล็กๆรูปร่างคล้ายไม้พาย ป้ายบริเวณรูปากช่องคลอดแล้วมาป้ายบนสไลด์แล้วนำไปย้อมสี จากนั้นนำมาดูลักษณะของเซลล์ หากมีการติดเชื้อ ลักษณะเซลล์จะผิดปกติไป 2. การตรวจด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Liquid-based solution ซึ่งการตรวจจะคล้ายคลึงกับการตรวจแปบสเมียร์ แต่จะเป็นการเก็บเซลล์ที่จะตรวจในน้ำยาเฉพาะ แทนการป้ายเซลล์บนแผ่นแก้ว (Slide) ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการตรวจสูงกว่าการตรวจแปบสเมียร์ 3. การตรวจหา ดีเอ็นเอของเชื้อ HPV ซึ่งสามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ HPV ว่าเป็นกลุ่มที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงหรือต่ำ ค่ะ – ตอบโดย กรรณิกา สารทิศ (พว.)

อยากทราบว่าราคาตรวจเชื้อHPVราคาเท่าไร แพงมั้ย ต่างจากตรวจpap smeer ยังไงคะ

คำตอบ: Pap smear เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก โดยการเก็บเซลล์ไปป้ายบนสไลด์ ให้ความแม่นยำน้อยราคาประมาณ500-1000 บาทค่ะ Thin Prep Pap test เป็นการเก็บเซลล์ในน้ำยา ให้ความแม่นยำสูงขึ้น ราคาประมาณ 1,500-2,000 บาท HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อเซลล์มะเร็ง ราคา 2,500-3,000 บาท ราคานี้เป็นราคาโรงพยาบาลเอกชนค่ะ หากโรงพยาบาลรัฐราคาก็จะต่ำลงมาเล็กน้อย หากตรวจแล้วผลปกติ แบบที่1และ2 ควรตรวจปีละครั้ง แบบที่3ตรวจ3ปีครั้งค่ะ – ตอบโดยศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)