นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเมื่อวันที่ 21 เมษายน ถึงการปลดล็อกให้ใช้ชุดตรวจคัดกรองเชื้อ hiv ด้วยตนเอง ว่า ชุดตรวจดังกล่าว มีการผลิตใช้งานตามโรงพยาบาลและคลีนิคอยู่แล้ว แต่เดิมทาง อย. ไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ตรวจกับบุคคลทั่วไป แต่จากการประสานกับกรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พบว่า การที่บุคคลทั่วไปนำไปตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองมีประโยชน์ และองค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่า มีประโยชน์จริง จึงประกาศให้มีการดำเนินการได้เอง คาดว่าหลังจากนี้ จะมีผู้ประกอบการไปขอยื่นขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายตามร้านขายยามากขึ้น
“การพิจารณาขึ้นทะเบียนชุดตรวจคัดกรองเอชไอวี อย.จะควบคุมเข้ม ไม่ว่าจะใช้ในสถานพยาบาลหรือใช้ตรวจด้วยตนเอง และชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง อย.จะพิจารณาตรวจเข้มงวดกว่าที่ขายให้โรงพยาบาล โดยมีการกำหนดคุณสมบัติและมาตรฐาน เช่น ความแม่นยำจะต้องสูงถึงร้อยละ 99.5 และมีเอกสารคำแนะนำให้ผู้ป่วย เช่น ก่อนตรวจต้องทำอย่างไร หลังตรวจทำอย่างไร หากมีปัญหาจะให้คำปรึกษาได้ที่ไหน เป็นต้น” นพ.สุรโชคกล่าว และว่า ส่วนชุดตรวจเชื้อเอชไอวีที่ใช้ในสถานพยาบาล เนื่องจากมีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจ อีกทั้งเมื่อสงสัยว่าเลือดบวก จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติ (ห้องแล็บ) ซ้ำ และดูอาการของคนไข้ประกอบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดการชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองหลังใช้งานแล้ว เพราะมีการเจาะเลือดของผู้ทดสอบ และกังวลเรื่องขยะหลังการตรวจ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ชุดตรวจด้วยตนเองมี 2 แบบ คือ แบบเจาะเลือดตรวจ และแบบตรวจจากน้ำลาย ซึ่งทั้งสองแบบต้องมีความแม่นยำสูงเหมือนกัน
“ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อจากการสัมผัสเลือด เนื่องจากเข็มที่ใช้เจาะเป็นระบบที่มีความปลอดภัย พอเจาะเสร็จตัวเข็มจะถูกเก็บหายไป ไม่ต้องกังวลว่าจะไปตำคนอื่น และเลือดก็ใช้น้อยมาก เมื่อหยดเลือดลงไปในตัวชุดตรวจ เลือดก็จะซึม แห้ง และไม่ไปที่อื่น หากมีเชื้อจริง ทิ้งไว้ไม่กี่ชั่วโมงเชื้อก็ตาย การทิ้งชุดตรวจจึงสามารถทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้” นพ.สุรโชคกล่าว และว่า ส่วนข้อกังวลที่ว่า เมื่อตรวจแล้วผลเป็นบวก และจะทำอะไรไม่ถูกนั้น มีข้อกำหนดว่า ชุดตรวจจะต้องระบุสายด่วนให้คำปรึกษาผู้ที่ติดเชื้อด้วย และปัจจุบันประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ระดับหนึ่งแล้ว
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องที่น่ากังวลอีกเรื่องของการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง คือ ระยะเวลาที่จะตรวจหาเชื้อเอชไอวีพบ ซึ่งคนที่ไปมีความเสี่ยงมา อาจจะร้อนใจอยากรู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ก็ไปซื้อชุดตรวจมาตรวจเลย แต่กลับลืมระยะเวลาที่จะตรวจหาเชื้อพบ ดังนั้น เมื่อตรวจแล้วจึงทำให้ผลเป็นลบ ทั้งที่จริงแล้วอาจจะติดเชื้อมาก็ได้ ทำให้การแปลผลผิดพลาด
“ระยะเวลาที่จะตรวจหาเชื้อพบ ขึ้นกับการพัฒนาน้ำยาชุดตรวจว่ามีความไวมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ดังนั้น หากคนที่เพิ่งมีความเสี่ยงมาแล้วไปตรวจใน 2-3 วัน อาจเกิดปัญหาการอ่านผลผิดได้” นายอภิวัฒน์กล่าวและว่า แม้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง จะระบุชัดเจนถึงรายละเอียด ข้อแนะนำ วิธีใช้ต่างๆ แต่เห็นว่า เภสัชกรยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยอธิบายให้ผู้ซื้อเข้าใจ เช่น อาจสอบถามถึงความเสี่ยงในการรับเชื้อ ซึ่งหากเพิ่งไปมีความเสี่ยงมา ก็อาจแนะนำว่าในระยะแรกอาจตรวจไม่พบเชื้อ เป็นต้น