มารู้จักสถานบำบัดโรคเอดส์กันเถอะ

By | พฤศจิกายน 20, 2015

เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า “โรคเอดส์” คือ โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากพบเจอ หรือถ้าจะให้ดีขอไม่อยู่ใกล้กับคนเป็นเอดส์น่าจะดีกว่า แต่คุณรู้หรือไม่ว่า คนที่เป็นเอดส์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการ ตรวจ HIV อย่างถูกต้อง และคือ บุคคลผู้น่าสงสาร บางทีเขาและเธออาจจะไม่ใช่ต้นเหตุแห่งการเกิดโรคร้ายนี้ด้วยซ้ำ แต่จำเป็นต้องมารับกรรมเพราะได้รับการถ่ายทอดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากบุคคลอื่นๆที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม แต่เมื่อเรื่องร้ายเกิดขึ้นแล้ว ก็คงปฏิเสธหรือถอยหลังย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ มีเพียงทางเดียวที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนพึงกระทำ ก็คือ การพยายามอยู่กับมันให้มีความสุขมากที่สุดเท่าที่จะสามารถมีได้นั่นเอง

โลกของเราไม่ได้ใจแคบกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีมากจนเกินไปหรอกค่ะ เพราะยังมีหน่วยงานต่างๆมากมาย ที่พร้อมจะให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคนี้ ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างยาวนานมากที่สุด หรือช่วยเติมเต็มชีวิตของพวกเขาให้มีความสุขมากเท่าที่จะสามารถทำได้

ในประเทศไทยของเรา มีองค์กรที่กล่าวถึงนี้อยู่หลายที่ด้วยกัน วันนี้เราจะมายกตัวอย่างสถานบำบัดโรคเอดส์ที่สำคัญในประเทศไทย ว่าใครบ้างที่พร้อมจะให้ความพึงพิงแก่ผู้ป่วยโรคร้ายเหล่านี้

1.      วัดพระบาทน้ำพุ หรือวัดพระพุทธบาทประทานพร

เมื่อกล่าวถึงชื่อ  “วัดพระบาทน้ำพุ” เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะสถานที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถานที่ให้ความสงบทางจิตใจเพียงเท่านั้น แต่วัดพระบาทน้ำพุ ยังเป็นที่ตั้งของ “มูลนิธิธรรมรักษ์” ซึ่งเป็นสถานที่พักฟื้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีระยะสุดท้ายอีกด้วย โดยวัดพระบาทน้ำพุ เริ่มต้นรับผู้ป่วยโรคเอดส์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2535 โดยได้รับการสนับสนุนและได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขและกรมศาสนา สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์จากทั่วประเทศ พร้อมมีกิจกรรมพิเศษที่ช่วยบำบัดจิตใจของผู้ติดเชื้อทุกคน เช่น การสวดมนต์ การเดินจงกรม การเล่นโยคะ รวมถึงการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ อีกทังยังรับอุปการะเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบโรคเอดส์จากบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อด้วย

 2.       มูลนิธิดวงประทีป

            เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนที่ยากจน รวมถึงผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ต้องการความช่วยเหลือมาโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ขององค์กรต้องการที่จะพัฒนาและส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชน รวมถึงเพื่อเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ และยาเสพติด ทำให้ที่นี่มีบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์อยู่หลากหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การให้คำปรึกษาเรื่องวิธีในการปฏิบัติตนหรือการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ รวมไปถึงการออกเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงด้วย

3.      ศูนย์โฮปไลน์

เป็นศูนย์บริการที่ทำงานเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์อีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ ที่ศูนย์บริการแห่งนี้มีอาจารย์อนุกูลเป็นที่ปรึกษา และมีนายแพทย์ประยุกต์ เสรีเสถียร เป็นผู้อบรมกลุ่มนักศึกษาอาสาสมัครที่เรียนมาทางด้านจิตวิทยาโดยตรง เพื่อให้พวกเขาเข้ามาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อทุกท่าน ที่เข้ามาขอคำปรึกษาในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ ซึ่งกำลังใจจากองค์กรแห่งนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

4.         บ้านธานน้ำใจ

บ้านธานน้ำใจดำเนินงานโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่รับเลี้ยงทารกที่เกิดมาจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี และถูกทอดทิ้งเอาไว้ตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยหน้าที่หลักของบ้านธานน้ำใจ ก็คือ การให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กแรกเกิดผู้โชคร้ายเหล่านี้ รวมถึงการจัดหาครอบครัวให้แก่เด็กน้อยที่ไม่ได้รับการติดเชื้อจากแม่ เพื่อให้เด็กน้อยเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุขหลังจากที่พวกเขาเริ่มเติบโตขึ้นแล้ว และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการเลื้ยงดูทารกของโรงพยาบาลต่างๆ ที่แม่ผู้ติดเชื้อทิ้งลูกน้อยของเธอเอาไว้ด้วย

ส่วนในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีปัญหาด้านทางกฏหมายหรือการละเมิดสิทธิ์ทางเพศ ก็มีหน่วยงานอีกหลากหลายแห่ง ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการแจ้งความตามกฎหมาย หรือการติดต่อประสานงานต่างๆกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายชื่อของหน่วยงานเหล่านี้ ได้แก่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์, องค์กรเพื่อนหญิง, มูลนิธิผู้หญิง หรือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  หน่วยงานเหล่านี้จะคอยยื่นมือมาโอบอุ้มคุณในเวลาที่คุณกำลังอ่อนแอหรือล้มลงโดยไม่มีใครเหลียวแล ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือให้คุณสามารถกลับมามีจิตใจที่แข็งแรงได้อีกครั้ง และช่วยให้คุณสามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

เห็นหรือยังค่ะว่า คุณไม่ได้ยืนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ ในวันที่มืดมนหมดหนทาง ยังคงมีแสงสว่างรอคอยคุณอยู่ที่ทางออกเสมอ ขอเพียงแค่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ หรือยกธงขาวยอมแพ้ต่อโชคชะตาไปเสียก่อน หากคุณเริ่มท้อใจก็ขอแค่เพียงนั่งพักให้พอมีแรงที่จะเดินต่อไป และเมื่อไรที่คุณสามารถเรียกพลังกลับคืนมาได้แล้ว ก็ขอให้คุณจงใช้พลังที่มีนั้นอย่างถูกทาง เพื่อให้บั่นปลายของทางเดินชีวิตที่เหลืออยู่ เต็มไปด้วยความสุขในทุกวัน และคุณจะไม่รู้สึกเสียใจเลยที่ตัดสินใจต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้อีกครั้ง